eNewsletter#6
“ประธานบริษัทโตโยต้าพูดถึงโควิด-19 ว่าเป็นสถานการณ์ที่เปิดโอกาสให้บริษัทบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เวลาน้อยลงแต่ให้ผลสัมฤทธิ์มากขึ้น รวมถึงต้องปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ และพึ่งพาเทคโนโลยีเกือบเต็ม 100% ในการดำเนินธุรกิจ” อาจารย์ สมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน หรือ TGI เล่าให้ทีมงานเมทัลเล็กซ์ ฟังในวันที่เราเข้าไปเยี่ยมคารวะ

“การแพร่ระบาดทำให้ประธานโตโยต้าลดเวลาในการเดินทางไปถึง 80% ลดเวลาในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลต่างๆ 85% และลดเวลาในการประชุมภายในองค์กรลงได้ 30% ซึ่งช่วยลดปริมาณกระดาษที่ถูกนำมาใช้เป็นเอกสารการประชุมลงมากถึง 50%”1
“ในทุกวิกฤติ ย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ อย่างในภาษาจีน คำว่า ‘วิกฤติ’ ก็มีความหมายที่ลึกซึ้ง เพราะเขียนด้วยอักษรสองตัวติดกัน ตัวแรกมาจากตัวแรกของคำว่า ‘อันตราย’ ตัวที่สองมาจากตัวแรกของคำว่า ‘โอกาส’ มุมมองของแต่ละสถานการณ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ หากเรามองเห็นแต่คำว่า ‘อันตราย’ เราอาจจะเจอแต่ทางตัน แต่หากเราเปลี่ยนมุมมอง มองให้กว้างไกลขึ้น เราอาจจะเห็นโอกาสที่กำลังรออยู่”

และโอกาสก็เป็นสิ่งที่ TGI พร้อมมอบให้กับผู้ประกอบการ ในฐานะองค์กรนำในการเพิ่มผลิตภาพของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้วยการยกระดับเทคโนโลยี นวัตกรรมและบุคลากร  ด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ รวมทั้งเครื่องจักรกลและแม่พิมพ์ ให้สามารถแข่งขันได้ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 
อาจารย์สมหวังเล่าว่า นอกจากการจัดสัมมนาให้องค์ความรู้แล้ว ผู้ประกอบการที่ต้องการเตรียมการฟื้นฟูหลังเหตุการณ์โควิด สามารถติดต่อ TGI เพื่อทำงานร่วมกัน โดยขณะนี้ TGI ได้คิดวางแผนรูปแบบทางธุรกิจใหม่เพื่อให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการ (ตามภาพ) โดยจะพิจารณาจากสิ่งที่ผู้ประกอบการมีอยู่แล้ว และสิ่งที่ควรต้องปรับเปลี่ยนหรือต้องมี ทั้งในแง่ของลูกค้า, ผลิตภัณฑ์, กระบวนการผลิต, เครื่องมือ และ ทีมงาน เพื่อให้เกิดเป็นโมเดลใหม่ทางธุรกิจที่จะพาผู้ประกอบการข้ามผ่านวิกฤติการณ์นี้ไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
อาจารย์สมหวังพูดถึงแนวคิดโดย รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพูดในระหว่างการทำ Digital Social Responsibility (DSR) ซึ่งเป็นโมเดลนำร่องของคณะฯ ที่ต้องการช่วยเหลือสังคมผ่านดิจิทัล โดยพูดถึงสถานการณ์ในปัจจุบันที่ทำให้เกิด 4D 1H ขึ้น ได้แก่ Digital Life, Data, Distance, Health Conscious และ Domestic ซึ่ง D ตัวสุดท้ายนั้นพูดถึงความจำเป็นที่ธุรกิจต้องร่วมมือกัน พึ่งพาอาศัย และ ค้าขายกันเองให้มากขึ้น2

“ในสถานการณ์เช่นนี้ เราจะต้องร่วมมือกัน เพราะการจะมานั่งคิดถึงทิศทางที่จะก้าวต่อไปอยู่ฝ่ายเดียวจะเป็นเรื่องยาก สถาบันไทย-เยอรมันจึงเข้ามาเป็นส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน เพราะการที่เรามาร่วมกันคิดร่วมกันทำ ต่างคนต่างมีมุมมองที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นการมาร่วมคิดไปด้วยกันที่ TGI หรือการไปพบปะกันกับคนในวงการอย่างในงานแสดงสินค้า เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และไอเดีย ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์” อาจารย์สมหวังกล่าว

การเผชิญหน้ากับวิกฤติอาจทำให้คนที่กำลังเหนื่อยมองเห็นได้แต่มุมลบจากสถานการณ์ แต่หากมีใครสักคนอย่าง TGI ที่ช่วยดึงมุมมองออกมาให้กว้างไกล หรือมอบมุมมองที่แตกต่างออกไป มุมบวกของสถานการณ์หรือคำตอบสำหรับปัญหาที่รออยู่บนทางข้างหน้า ก็น่าจะเด่นชัดและเดินเข้าหาได้ง่ายและเร็วกว่าเดิม

“การปรับตัวต้องเริ่มจากการเปลี่ยนมุมมอง การจะข้ามผ่านวิกฤติการณ์ไปได้ก็อยู่ที่ว่าใครมองเห็นโอกาส ที่ TGI เรามีมุมมองใหม่ๆ ที่จะเล่าให้ผู้ประกอบการฟัง ดังนั้น เชิญแวะเข้ามาที่ TGI หรือไปพบเราที่งาน เมทัลเล็กซ์ เดือนพฤศจิกายนนี้ก็ได้ครับ” อาจารย์สมหวังกล่าวปิดท้าย


แหล่งอ้างอิง: 1. ข้อมูลจาก นสพ. กรุงเทพธุรกิจ
2. ข้อมูลจาก นสพ. คมชัดลึก
TGI ยังมีโครงการอีกมากมายที่จะเอื้อประโยชน์ต่อสังคมและอุตสาหกรรม
ซึ่งท่านสามารถติดตามได้จากเฟสบุ๊คของงานเมทัลเล็กซ์ที่ www.facebook.com/metalexpage และไลน์: @metalexexpo
สถานการณ์ปัจจุบันสร้างความท้าทายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับทุกๆ คน แต่ทีมงานเมทัลเล็กซ์อยากให้คุณรู้ว่า เราจะสู้ไปด้วยกันและเราจะอยู่เคียงข้างคุณเสมอ เราจะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจ เทคโนโลยี และอนาคตที่ดีให้กับคุณทุกคน เพียงบอกเราว่าคุณต้องการเห็นเทคโนโลยีไหน หรือ ต้องการพบใครในงานเมทัลเล็กซ์เรากำลังรอคุณอยู่ที่ไลน์: @metalexexpo.

#WeAreHereForYou
ติดตามข่าวสารอัพเดทของงานและสาระความรู้ได้ที่
www.metalex.co.th และ ไลน์: @metalexexpo