eNewsletter 2
ปัจจุบันนี้รถยนต์ไฟฟ้าทวีบทบาทมากขึ้น เพราะเป็นยนตรกรรมที่จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในอนาคต บริษัทผู้ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ McKinsey & Company ประเมินว่า ส่วนแบ่งยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าราว 30-35% ในตลาดสำคัญ  เช่น จีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา และมีสัดส่วนประมาณ 20-25% ทั่วโลก ภายในปี 2573

ประเทศไทยก็ได้บรรจุเป้าหมายที่จะก้าวเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลกใน (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะส่งผลต่อเป้าหมายนี้คือประสิทธิภาพของ “แบตเตอรี่” โดยระบุว่า จะจัดตั้งกิจการค้าร่วมด้านการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการผลิตแบตเตอรี่ ระบบเซนเซอร์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบสื่อสารในยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ และคำนึงถึงวงจรชีวิตทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2570 จะมีมูลค่าส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนรวมไม่น้อยกว่า 130,000 ล้านบาท จำนวนผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานของยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 14 ราย จำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ/หัวจ่ายชาร์จเร็ว เพิ่มขึ้น 5,000 หัวจ่าย และเกิดการลงทุนเทคโนโลยีสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
แบตเตอรี่ EV เป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง ไม่เพียงเพราะจะส่งผลโดยตรงต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ดั้งเดิม แต่เพราะจะเกี่ยวข้องกับการจัดการแบตเตอรี่ที่หมดอายุอีกด้วย งาน “ออโตโมทีฟ แมนูแฟกเจอริ่ง 2022” จะรวบรวมองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อนักอุตสาหกรรม รวมถึงนำเสนอเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่จำเป็นต่อการปรับตัวให้เท่าทันวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมบยานยนต์โลกยุคใหม่ต่อไป